วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

8. ข่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Alpinia  galanga   (L.) Willd.
ชื่อสามัญ :   Galanga
วงศ์ :   Zingiberaceae
    ข่า เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า "เหง้า" อยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารในประเทศไทยและอินโดนีเซีย ข่ามีชื่อสามัญอื่นอีกคือ กฎุกกโรหินี (กลาง) ข่าหยวก (เหนือ) ข่าหลวง (ตะวันออกเฉียงเหนือ,เหนือ) สะเอเชย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) และ เสะเออเคย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) (อ้างอิง : ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549) 

    8.1 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
    ข่าเป็นไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตรอยู่เหนือพื้นดิน เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอก ช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผล เป็นผลแห้งแตกได้ รูปกลม (อ้างอิง : ข่า ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ; เข้าถึงได้จาก : http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.htm วันที่ 1 มกราคม 2558)

    8.2 สรรพคุณ
    ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า มีบทบาทในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา นอกจากนั้น ข่ายังมีฤทธิ์ทางยา เหง้าแก่แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่น ดอกใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ผลช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียน อาเจียน ต้นแก่นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ สารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง (อ้างอิง : อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 12-14) ข่า ลดการบีบตัวของลำไส้ ขับน้ำดี ขับลม ลดการอักเสบ ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราใช้รักษากลากเกลื้อน  (อ้างอิง : ข่า จากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล)  เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้อาหารเป็นพิษ เป็นยาแก้ลมพิษ เป็นยารักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ติดเขื้อแบคทีเรีย เชื้อรา วิธีและปริมาณที่ใช้ รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย (เข้าถึงได้จาก : http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.htm วันที่ 1 มกราคม 2558)

    8.3 สารเคมี
    1 - acetoxychavicol acetate น้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย monoterene  2 - terpineol, terpenen  4 - ol, cineole, camphor, linalool, eugenol (เข้าถึงได้จาก : http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.htm วันที่ 1 มกราคม 2558)

    8.4 การปลูกข่า  
          8.4.1 การปลูกข่าหยวก (อ้างอิง : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เข้าถึงได้จาก : https://www.gotoknow.org/posts/150838 วันที่ 1 มกราคม 2558)
    การปลูกข่าหยวกเป็นอาชีพ มีกระจายอยู่ทั่วไปของประเทศไทย โดยเฉพาะการปลูกเชิงพาณิชย์ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา   อ่างทอง   เพชรบูรณ์   ราชบุรี   อุบลราชธานี และนครสวรรค์เป็นต้น  ซึ่งเดิมประกอบอาชีพทำนามานาน และเกิดภาวะหนี้สินจากการทำนานับแสนบาท เพราะว่าพื้นที่ทำนาเสี่ยงต่อน้ำท่วมทุกปี จึงเกิดอาชีพเสริม ด้วยการเริ่มต้นปลูกข่า ในพื้นที่ 1 งาน ผลปรากฏว่ารายได้จากการปลูกข่าเพียง 1 งาน ทำรายได้ดีกว่าการทำนา และมีการดูแลรักษาน้อยกว่า  จากการพัฒนาอาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกข่าในพื้นที่ 5 ไร่  โดยในพื้นที่ 1ไร่จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 4,000-6,000 กิโลกรัม
    เหตุผลที่ปลูกข่าหยวกทั้งหมด เพราะเป็นข่าที่มีลักษณะเหง้าใหญ่ สีแดงออกชมพู  มีกลิ่นฉุน ตลาดต้องการข่าชนิดนี้มากที่สุด  สภาพดินที่เหมาะต่อการปลูกข่ามากที่สุดควรเป็นดินร่วนปนทราย และจะต้องเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง การเตรียมดินมีการไถดะ  ไถแปรและพรวนชักร่องเหมือนกับการปลูกอ้อย  ระยะปลูกที่นิยมคือ 80X80 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่จะปลูกข่าได้ 2,500 หลุม ต้นพันธุ์ที่จะใช้ปลูกจะใช้เหง้าอ่อน หรือเหง้าแก่ก็ได้ โดยมีข้อเด่น และข้อด้อยต่างกันคือ เมื่อใช้เหง้าอ่อนจะเจริญเติบโตเร็วในช่วงแรก แต่จะต้องซื้อพันธุ์ ด้วยต้นทุนสูง ในกรณีที่ใช้เหง้าแก่จะเจิญช้ากว่าหน่ออ่อน แต่การลงทุนค่าพันธุ์จะถูกกว่าหน่ออ่อนเท่าตัว  (ถ้าใช้หน่ออ่อนทำพันธุ์จะนิยมเหมาซื้อ โดยในพื้นที่ 1 งาน ใช้ค่าหน่อพันธุ์เป็นเงิน 6,000 บาท)
    ข่าที่ปลูกไปแล้วจะเริ่มขุดขาย เมื่อมีอายุตั้งแต่ 8 เดือน และจะทยอยขุดขายไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 2 ปี ช่วงที่เหมาะต่อการขุดข่าขายละมีน้ำหนักดีได้กำไรมากที่สุด ควรจะขุดขายในช่วงอายุ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง ในข่า 1 กอจะได้ข่าที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 8-10 กิโลกรัม และมีสัดส่วนของข่าอ่อนประมาณ 70 % และเป็นข่าแก่ประมาณ 30 %  ถ้าเกษตรกรขุดข่าเมื่ออายุปีครึ่งขึ้นไปจะมีสัดส่วนของข่าแก่มากกว่าข่าอ่อนตามลำดับ ในการขุดข่าขายดินจะต้องมีความชื้นจึงจะง่ายต่อการขุด ในการขุดแต่ละครั้งจะมีออร์เดอร์สั่งมา  จะขุดวันต่อวันเพื่อความสดและจะขุดในช่วงเช้า
    เคล็ดลับในการรักษาสภาพของเหง้าข่าให้คงความสดและสีสวยออยู่ได้นานจนถึงปลายทาง ด้วยการตัดแต่งรากและเหง้าให้เสร็จเรียบร้อย นำเหง้าจุ่มลงในน้ำสะอาดที่กวนด้วยสารส้ม (น้ำสารส้มจะช่วยรักษาเหง้าข่าให้ดูสดและสีสวย) หลังจากนั้นบรรจุข่าลงถุงพลาสติกใสน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อถุง   พ่อค้าจะมารับสินค้าในช่วงเวลาบ่าย   เพื่อนำไปยังตลาดต่อไป โดยเฉลี่ยราคารับซื้อข่าอ่อนจะเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาทและจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 15 บาทในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ สำหรับข่าแก่จะขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3-5 บาท

สวนที่ทำการทดลองปลูกข่าเชิงการค้า (เข้าถึงได้จาก : http://www.mygreengardens.com/การเกษตร/วิธีปลูกข่าให้ได้ผลผลิ/ วันที่ 1 มกราคม 2558)
    ปัจจุบันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าโลกเราร้อนขึ้นทุกวันๆ โดยเฉพาะหน้าร้อนและแล้งมาขึ้นทุกๆ ปีอย่างเห็นได้ชัด การปรับตัวของทั้งมนุษย์ สัตว์และพืชเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรที่ต้องขึ้นกับฟ้าฝนและอากาศจึงเป็นเหตุให้ต้องปรับตัวกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด พืชบางอย่างอาจจะปลูกง่ายไม่ต้องดูแลรักษามากในอดีตแต่ในปัจจุบันก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงวิธีการปลูกบ้างหรือเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ผลผลิตได้ตามใจต้องการ

การเตรียมดิน
    ข่าเป็นพืชที่ชอบชื้น ดินร่วนซุย แต่ไม่ชอบแฉะและน้ำขัง หากพื้นที่ไหนมีน้ำขังก็คงเป็นเรื่องยากสักหน่อยสำหรับการปลูกข่า หรืออาจะแก้ไขด้วยการไถเปิดหน้าดินแล้วก่อนขึ้นเป็นคัน แต่หากเป็นพื้นที่ราบปกติแล้วก็สามารถไถเปิดหน้าดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตรแล้วคลุกกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน หรือหากเป็นการปลูกข่าเพื่อใช้รับประทานในครัวเรือนก็สามารถใช้จอบขุดขึ้นแปลงเล็กๆ หรือขุดหลุมแล้วคลุกดินด้วยปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักได้ไม่ยุ่งยาก

การเตรียมต้นพันธุ์ข่าสำหรับปลูก
    ข่าเป็นพืชที่ปลูกง่ายแต่หากท่านใดมีโอกาสก็อยากจะแนะนำต้นพันธุ์ที่มาจากต้นแม่ที่มีอายุได้ 8 – 9 เดือนเพราะมีตามากและรากงอกใหม่ได้ง่าย เพียงแตค่แยกแง่งตัดใบตัดรากออกให้หมดแล้วล้างให้สะอาดก็เป็นอันใช้ได้ แต่หากท่านไหนไม่สามารถหาต้นพันธุ์ได้นั้นก็สามารถหาซื้อไปตามตลาดโดยคัดเลือกหัวหรือแง่งที่มีตาตามข้อ ตัดแต่งส่วนที่เน่าหรือช้ำออกเพราะจะทำให้ลุกลามในภายหลังได้และเมื่อเสร็จแล้วก็นำไปแช่ในน้ำยากันเชื้อรา หลังจากนั้นก็นำไปเพาะชำในแกลบดำหรือวัสดุปลูกชนิดอ่อนเช่นแกลบหรือขุยมะพร้าวแล้วรดน้ำให้ชุ่มเป็นเวลา 10 – 15 วัน เพื่อรอให้รากงอกและแทงยอดออกมาใหม่ หรือหากท่านใดนิยมการปลูกแบบบ้านๆ ก็ไม่ต้องพิถีพิถันอะไรมากก็สามารถปักลงดินแล้วรดน้ำได้เลยแต่ถ้าหากอยากให้อัตราการรอดสูงก็อาจจะต้องพึ่งพาการอนุบาลเสียเล็กน้อยเพื่อศิริมงคลแก่ชีวิต

การปลูกข่า
    การปลูกนั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยากเกินไปกว่าการขุดหลุมให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตรและกว้าง 30 เซนติเมตร แล้วอาจจะรองก้นหลุมด้วยใบสะเดา ยาสูบหั่นฝอย หรือพืชที่มีกลิ่นฉุนเพื่อดักทางแมลงหรือหนอน แล้วตามด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า (หลีกเลี่ยงการใช้มูลวัวเพราะง่ายต่อการแพร่ของหนอนกอ) สำหรับการรองก้นหลุมแล้วจึงกลบดินถมให้ลึกประมาณ 20 – 25 เซนติเมตรโดยให้ตาของหน่อข่าชี้ขึ้นด้านบน โดยทิ้งระยะห่างระหว่างกอที่ 1 – 1.2 เมตร แล้วคลุมด้วยฟางหรือวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำจากการถูกแดดเผา หรือไม่ใช้ก็ได้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชน อิอิอิ แต่ถ้าจะให้แนะนำก็อยากจะให้หาวัสดุคลุมให้เรียบร้อยเพื่อรักษาความชื้นในดินและถึงแม้จะดูยุ่งยากในช่วงแรกแต่ก็เป็นผลดีในระยะยาว

การดูแลรักษาข่าหลังการปลูก
    ถึงแม้ว่าข่าเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก โตได้ตามมีตามเกิดแต่หากต้องการผลผลิตที่ดีมีคุณภาพนั้นก็เห็นทีจะต้องบำรุงให้งาม เพื่อขายได้ราคา ท่านอื่นไม่แน่ใจว่าจะใช้อะไรแต่สำหรับผู้เขียนนั้นนิยมใช้ปุ๋ยหมักทำเองที่ได้จากการหมักผักตบชวากับมูลไก่และแกลบ โดยใส่บริเวณโคนต้นจำนวน 0.5 กิโลกรัมต่อต้นเดือนละครั้ง หากเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็คงจะใส่น้อยกว่านี้ตามอัตราส่วน ส่วนการรดน้ำนั้นหากเพื่อนๆ มีฟางหรือวัสดุคลุมไว้ก็จะช่วยรักษาความชื้นในดินได้ดีทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ โดยอาจจะรดน้ำแต่อาทิตย์ละครั้ง แต่หากไม่มีวัสดุคลุมก็ควรดูจากระดับความชื้นในดิน และสำหรับไร่ผู้เขียนเองนั้นก็เพิ่มเติมด้วยการรดน้ำหมักชีวภาพทุกอาทิตย์เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน

ประโยชน์ขางการปลูกข่า
    ข่านั้นมีมูลค่าในเชิงการค้าซึ้งเป็นประโยชน์โดยตรงจากการปลูกข่าซึ่งข่านั้นขายได้ทั้งข่าอ่อนและข่าแก่ หากท่านผู้เขียนมีตลาดข่าอ่อนรองรับก็แนะนำให้เตรียมการปลูกเพื่อผลิตขิงอ่อนเพราะราคาดีและขายง่ายกว่าข่าแก่มาก และประโยชน์ทางอ้อมสำหรับการปลูกข่านั้นก็เป็นระบบการป้องกันแมลงได้อีกรูปแบบหนึ่งเพราะหากปลูกแซมหรือปลูกข่าดักทิศทางแมลงไว้แมลงก็จะช่วยลดการเข้าทำลายพืชผลอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกันเพราะแมลงไม่ถูกโรคกับพืชที่มีกลิ่นฉุน เหง้าแก่ รสเผ็ดปร่า และรสร้อน สรรพคุณขับลมให้กระจาย แก้ฟกบวม แก้พิษไข้ ซับโลหิตร้ายในมดลูก ขับลมในลำไส้ รักษาโรคกลากเกลื้อน
    ประโยชน์ทางอาหารการ ปรุงอาหาร คนไทยทั่วประเทศ รู้จักข่ากันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเหง้าแก่ เหง้าอ่อน และดอกข่า ถือได้ว่าเป็นผัก เหง้าแก่ใช้เป็นเครื่องปรุงรส แต่งกลิ่น และเป็นเครื่องปรุงสำคัญของต้มยำทุกชนิด และแกงบางชนิด ส่วนเหง้าอ่อน ต้นอ่อน และดอกอ่อน นำมารับประทานสดๆ หรือลวกให้สุก ใช้เป็นเครื่องจิ้มกับน้ำพริก เหง้าอ่อนสด ยังสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้อีกด้วย เช่น ต้มข่าไก่ ตำเมี่ยงข่าไก่ หรือตำเมี่ยงข่า เป็นต้น
    ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเหง้า อ่อนมีรสเผ็ด มีสรรพคุณเป็นยา ขับลมในลำไส้ แก้ปวดมวนไซ้ท้อง ดอกอ่อนก็มี รสเผ็ดกฃเช่นเดียวกัน เหง้าอ่อน 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 20 กิโลแคลอรี่ มีเส้นใย 1.1 กรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.13 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.15 กรัม และวิตามินซี 23 มิลลิกรัม

    อายุที่มากขึ้นประกอบกับการทำนาในปัจจุบันต้นทุนเพิ่มสูง ราคาต้องอิงกับนโยบายการของรัฐบาล และต้องขนข้าวไปขายถึงโรงสี จึงหันมาปลูกข่าเกษตร เพราะการปลูกข่าไม่ต้องดูแลมาก ไม่มีโรครบกวนเหมือนพืชชนิดอื่น นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยด้วย รดน้ำเพียงเดือนละ 2 ครั้ง หากเป็นช่วงที่มีฝนตกยิ่งดี ไม่ต้องรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ธรรมชาติมูลสัตว์ เจริญเติบโตได้ดี หลังจากปลูกลงดิน ประมาณ 8 เดือนสามารถเก็บผลผลิตขายได้ เป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว เพราะหากขุดข่าในกอยังคงมีหน่อใหม่ที่เจริญเติบโตเป็นกอใหม่ได้อีก ประมาณ 2-3 ปี ถึงจะลงทุนไถ่พรวน ขึ้นแปลง เริ่มต้นปลูกข่าใหม่ ซึ่งผลผลิตขุดขายได้ตลอดทั้งปี พ่อค้าแม่ค้ารับซื้อไม่อั้น ราคาจะอยู่ที่ 24-30 บาท/กรัม เพียงขุดนำมาล้าง ตัดแตกเอารากฝอยออก ใส่ถุงละ 10 กิโลกรัม หากแรงงานในครอบครัวมีกำลังขุดข่ามาส่งได้ได้เพียงวันละ 100 กิโลกรัม จะมีรายได้ถึง 2,500 บาท/วัน ทั้งนี้ 1 ไร่ เฉลี่ยได้ผลผลิตประมาณ 4 ตัน หรือ 4,000 กิโลกรัม ทำให้ครอบครัวมีรายได้จากการขายข่า ตันละ 2,5000 บาท เท่ากับราคาทองคำ 1 บาท หรือไร่ละ 100,000 บาท (เข้าถึงได้จาก : http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=723600 วันที่ 1 มกราคม 2558)

          8.4.2 การปลูกข่าเหลือง
    ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้  ข่าเหลืองมีราคาค่อนข้างสูงมาโดยตลอด ทำให้เกษตรหันมาปลูกกันจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ  ลักษณะของข่าเหลืองจะมีกลิ่นและรสชาติแรงและหอมมากกว่าข่าชนิดอื่นสังเกตที่เนื้อจะเป็นสีเหลือง ข่าเหลืองนับว่าเป็นพืชที่เหมาะกับเกษตรกรที่ชอบปลูกพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก เหมือนจำพวกตะไคร้ หรือขจร  เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง (เข้าถึงได้จาก : http://www.kaset4u.com/?p=238 วันที่ 1 มกราคม 2558)

การเตรียมกล้าพันธุ์
    ใช้หัวหรือแง่งแก่จัดทีซื้อมาจากตลาดใน สภาพที่ยังสด มีตาตามข้อเห็นได้ชัด ไม่จำเป็นต้องมีราก ตัดแต่งรอยช้ำ หรือเน่าที่หัวออกให้หมด แล้วนำไปแช่น้ำยากันรา จากนั้นนำขึ้นมาผึงลมในร่มให้แห้งแล้วทาแผลด้วยปูนแดงกินกับหมาก  นำหัวพันธุ์ที่ได้มาห่มความชื้น โดยการห่อด้วยผ้าชื้นน้ำหนาๆ นำไปเก็บไว้ในร่ม…หรือ ห่มกระบะโดยมีฟางรองพื้นหนาๆ วางท่อนพันธุ์แล้วกลบด้วยฟางหนาๆอีกชั้น รดน้ำให้ชุ่มเก็บในที่ร่ม…หรือ จะนำลงเพาะชำในขี้เถ้าแกลบก็ได้ โดยใช้เวลาการห่มความชื้น 10-20 วัน รอให้รากงอกและแทงยอดใหม่ออกมา จึงนำไปปลูกต่อไป (เข้าถึงได้จาก : http://www.kaset4u.com/?p=238 วันที่ 1 มกราคม 2558)

วิธีการปลูก
    ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกข่าเหลืองได้ 4,500-5,000 กอ โดยปลูกเป็นแถวระยะ 80×80 เซนติเมตร ก่อนลงหลุมปลูก ควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 พร้อมด้วยปูนขาวประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หลังจากปลูกแล้วเกษตรกรต้องกำจัดวัชพืชที่ขึ้นรอบหลุมปลูกเป็นประจำและให้ปุ๋ยสูตรเดิม หรือ 46-0-0 เดือนละประมาณ 2 ครั้ง จนกระทั่งข่าเหลืองอายุได้ 7 เดือน ก็สามารถขุดจำหน่ายได้ แต่ช่วง 15 วัน – 1 เดือน ก่อนที่จะขุดข่าเหลืองส่งตลาด ต้องใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60  อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้หน่อมีความสมบูรณ์ อวบใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้น หากมีระบบจัดการที่ดี ข่าเหลือง 1 กอ จะให้ผลผลิตประมาณ 2-3 กิโลกรัม จำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กอ หักค่าใช้จ่ายแล้วเกษตรกรจะมีรายได้ 150,000-200,000 บาท/ไร่ การขุดขึ้นมาแต่ละครั้ง ไม่ควรขึ้นขึ้นมาหมดทั้งกอ ให้เหลือไว้ 3-4 แง่ง เพื่อเป็นต้นพันธุ์ ซึ่งทำให้การปลูกข่าเพียงครั้งเดียว ก็สามารถอยู่ได้เป็นสิบปี  และหลังจากที่ขุดเอาหัว แง่งไปแล้ว ควรมีการปรับปรุงบำรุงดินทุกครั้ง เพื่อความสมบูรณ์และเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดิน (เข้าถึงได้จาก : http://www.kaset4u.com/?p=238 วันที่ 1 มกราคม 2558)
    การปลูกข่าเหลือง จะต้องวางแผนการผลิตให้สามารถออกสู่ตลาดได้ตลอดปี (เว้นช่วงเก็บเกี่ยวกาแฟ) ทำให้มีรายได้ทุกเดือน สำหรับการปลูกข่าเหลือง ปลูกได้ตลอดปี โดยเฉพาะแหล่งที่มีน้ำเพียงพอ ดินที่ปลูกควรเป็นที่ระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง ไม่อุ้มน้ำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรครากเน่าได้ และควรปรับปรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก หรือใส่แกลบกาแฟเพิ่มความร่วนซุยให้แก่ดิน จะทำให้ได้ข่าเหง้าโต น้ำหนักดี ใช้ระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร ขุดหลุมขนาด 30x30x20 เซนติเมตร 1 ไร่ จะปลูกได้ 6,400 หลุม รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 กระป๋องนม การคัดเลือกพันธุ์ที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป มีตาสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงทำลาย แบ่งเหง้าพันธุ์แต่ละเหง้าให้มีตา 3-5 ตา ใช้เหง้าพันธุ์ประมาณ 1,500 - 2,000 กก.ต่อไร่ หรือเท่ากับเหง้าพันธุ์ 1 กก. ต่อ 3 หลุม จากนั้นนำเหง้าพันธุ์มาชุบด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูก การปลูกให้ฝังเหง้าพันธุ์ลึก 5-7 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ แต่ถ้าใช้ต้นพันธุ์ที่เพาะกล้าไว้ในถุงพลาสติก ขนาด 8x10 นิ้ว ก็จะใช้ 1 ถุงต่อ 1 หลุมใน 1 ไร่ ใช้ต้นกล้า 6,400 ถุง   (เข้าถึงได้จาก : http://www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/plantlist/khamil.htm วัที่ 1 มกราคม 2558) 
    ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หลังปลูก 3 เดือน และ 4 - 5 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 โดยการโรยบางๆ รอบโคนต้น และควรหาแกลบกาแฟหรือเศษหญ้าแห้งคลุมโคน จะทำให้ข่าเหลืองเจริญเติบโตดี เหง้าโตขนาดจัมโบ้ สิ่งสำคัญในการปลูกข่า คือขาดน้ำไม่ได้และดินแฉะเกินไปก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดโรครากเน่า ส่วนปัญหาโรคแมลงรบกวนมีน้อย เพราะข่ามีกลิ่นเฉพาะตัวที่ช่วยขับไล่แมลง (เข้าถึงได้จาก : http://www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/plantlist/khamil.htm วันที่ 1 มกราคม 2558) 

การดูแลรักษา
    หลังจากปลูกข่าเหลือง สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องคอยกำจัดวัชพืช อย่าให้ขึ้นรกท่วมแปลงปลูก สำหรับนางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม จะใช้วิธีการถอน จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะจะมีผลกระทบต่อข่าเหลืองและมีสารพิษตกค้าง และไม่ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชใด ๆ จึงรับรองได้เรื่องความปลอดภัยจากสารพิษ (เข้าถึงได้จาก : http://www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/plantlist/khamil.htm วันที่ 1 มกราคม 2558) 
กรณีเกิดโรครากเน่าระบาด โรครากเน่า โคนเน่า หัวเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มักพบข่าเหลืองเป็นโรคนี้รุนแรงในช่วงที่มีความชื้นสูง และ อุณหภูมิค่อนข้างสูง(มีอุณหภูมิสะสมอยู่ในดิน 10-20 องศาเซลเซียส) มักพบเกิดมากในปลายฤดูฝนต่อต้นฤดูหนาว สิ่งสำคัญท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูกต้องปลอดจากโรคต่าง ๆ ต้องเลือกระยะเวลาปลูกก่อนฤดูโรคระบาด เช่น ปลูกในตอนต้นฝนที่อากาศยังไม่เย็นมากนัก ไม่ควรปลูกในพื้นที่ ที่เคยเป็นโรคมาก่อน ก่อนปลูกปรับปรุงดินให้เป็นด่างเล็กน้อย โดยใส่ปูนขาว และ ควรใช้เชื้อราไตโครเดอร์มา มาใช้ เพื่อป้องกันเชื้อเวลาเตรียมดินปลูก ควรที่จะใช้แกลบดิบรองพื้นแล้วไถกลบ ทิ้งไว้15 วัน เพื่อจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน และแกลบจะเป็นตัวช่วยดึงธาตุอาหารมาให้ พืชอีกด้วย ห้ามปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมติดต่อกันเกิน 2 ปี เพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมโรค  (อ้างอิง : ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น . สัมภาษณ์, 11 มิถุนายน 2557  เข้าถึงได้จาก :  http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=7732&s=tblplant วันที่ 1 มกราคม 2558) 

การลงทุน
    สำหรับค่าต้นพันธุ์ของข่าเหลืองนั้น นับว่าค่อนข้างสูง  พื้นที่  1 ไร่ ต้องใช้ต้นพันธุ์เป็นเงิน 15,000 – 20,000  บาท  ใช้เหง้าพันธุ์ประมาณ 1,500 – 2,000 กก.ต่อไร่ หรือเท่ากับเหง้าพันธุ์ 1 กก. ต่อ 3 หลุม จากนั้นนำเหง้าพันธุ์มาชุบด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูกการปลูกให้ฝังเหง้าพันธุ์ลึก 5-7 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ถ้าใช้ต้นพันธุ์ที่เพาะกล้าไว้ในถุงพลาสติก ขนาด 8×10 นิ้ว ก็จะใช้ 1 ถุงต่อ 1 หลุมใน 1 ไร่ ใช้ต้นกล้า 6,400 ถุง จึงทำให้เกษตรกรบางส่วนไม่อยากลงทุน  ในเรื่องของโรคนั้นมันมีปัญหาในเรื่องของหนอเน่าในช่วงฤดูฝน  จึงควรมีวิธีในการระบายน้ำไม่ให้น้ำขังบริเวณโคนของกอเพียง  6 – 7 เดือน  เราก็สามารถขุดข่าเหลืองไปจำหน่ายได้แล้ว  ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

การเก็บเกี่ยว
    เมื่อข่าเหลือง อายุได้ 5-6 เดือน ก็สามารถขุดขายได้ วิธีการขุด โดยใช้จอบหรือเสียมขุดขึ้นมาทั้งกอ ตัดใบทิ้ง แล้วนำมาทำความสะอาด ใช้เครื่องพ่นสารเคมีแรงสูง แต่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีฉีดพ่นน้ำทำความสะอาด ลอกกาบ ล้างดินและต้องคอยระวังอย่าให้ช้ำ เพราะแรงดันของน้ำแรงมาก จากนั้นนำมาตัดแต่งราก ตัดแต่งลำต้นและบรรจุถุง รอการจำหน่าย นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า ข่าเหลืองโดยเฉลี่ยจะใ้ห้ผลผลิตกอละ 1.5 กิโลกรัม ใน 1 ไร่ ปลูก 6,400 กอ จะได้น้ำหนักประมาณ 9,600 กิโลกรัม ๆ ละ 12 บาท จะมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 115,200 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 80,000 บาท ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 - 6 เดือนเท่านั้น ในช่วงที่เก็บเกี่ยวเกษตรกรคนเก่งบอกว่าจะปลูกใหม่ทดแทนไปทันที จะไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่าง จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดปี (เข้าถึงได้จาก : http://www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/plantlist/khamil.htm วัที่ 1 มกราคม 2558)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น